โดย : Admin 18 มิ.ย. 2568
กก. จัดประชุมคณะทำงานท่องเที่ยว ไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 5 พร้อมประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยญี่ปุ่น JTTRI-AIRO เพื่อยกระดับ
การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและน้ำพุร้อน
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00 – 12.00 น. นายเศกสันฐ์ ง้าวสุวรรณ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
และนายโอคุดะ เท็ตสึยะ ประธานสถาบันวิจัยด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น สำนักงานภูมิภาคอาเซียน–อินเดีย (JTTRI–AIRO) เป็นประธานร่วมการประชุมคณะทำงานคณะทำงานวิชาการด้านการท่องเที่ยว ไทย–ญี่ปุ่น ครั้งที่ 5 ณ โรงแรมมีเลีย จังหวัดเชียงใหม่
และผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "การดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วประเทศด้วยการต่อยอดทรัพยากรการท่องเที่ยว กรณีศึกษาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Towards Attracting Tourists Across the Country by Leveraging Tourism Resources – Taking Example of Wellness Tourism)”
การประชุมคณะทำงานฯ ดังกล่าว เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ผ่านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระหว่างสองประเทศ โดยในการประชุมครั้งนี้ นายอธึก ประเสนมูล ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว ได้นำเสนอคู่มือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อน ซึ่งมีทั้งหมด 118 แห่งในไทย โดยกรมการท่องเที่ยว
ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมสูงวัยในปัจจุบัน จึงได้กำหนดกรอบแนวทาง
การส่งเสริมและการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อน ทั้งการทำจุดอาบน้ำสาธารณะ การพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติและสปา และเส้นทาง
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เป็นน้ำพุร้อนในภูมิภาค นอกจากนี้ กรมการท่องเที่ยวยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนสันกำแพง
ซึ่งแบ่งกรอบการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ (1) ระยะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (2) ระยะการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก
เรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ (3) ระยะการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในพื้นที่ด้วยการใช้ทรัพยากรน้ำพุร้อน
ในส่วนของทำการตลาด นางสาวรับขวัญ จรูญศักดิ์ ผู้อำนวยการกองวางแผนลงทุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้นำเสนอกรณีศึกษาการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของน้ำพุร้อนสันกำแพง ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การท่องเที่ยวน้ำพุร้อนอย่างยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินการใน 4 มิติ ทั้งการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์ การจัดการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริม
การตลาดและการประชาสัมพันธ์ อาทิ สันกำแพง Onsen Festival งาน Vijitr Festival Events และ Amazing Chiang Mai Wellcation Destination ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ความทันสมัย ยกระดับมูลค่าน้ำพุร้อน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ นายโทมิตะ อะกิฮิโระ กรรมการบริหารสถาบันวิจัย JTTRI – AIRO ได้นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับนโยบายและความท้าทาย
ในการพัฒนาการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนในพื้นที่อาเซียน อินเดียใต้ และญี่ปุ่น โดยปัญหาความท้าทายของไทยคือการจราจรที่ติดขัด และการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว (Overtourism) ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายเมืองในอาเซียนและอินเดีย โดยไทยควรพัฒนาระบบคมนาคมให้สะดวกต่อการเข้าถึงเมืองน่าเที่ยวอื่น ๆ ตลอดจนพัฒนาประสิทธิภาพการรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ ไทยมีความโดดเด่น
ในนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนในชุมชน ทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต
ของประชาชนในพื้นที่ โดย JTTRI – AIRO เห็นว่าเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ สามารถส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว ควบคู่
ไปกับการสร้างสมดุลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
ในช่วงท้ายของการบรรยาย นายอิโตะ คาซึฮิโระ ประธานบริษัทและที่ปรึกษาการท่องเที่ยวบริษัทยามาชิโระ ได้นำเสนอแนวทางการดึงดูดนักท่องเที่ยว ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวน้ำพุร้อน กรณีศึกษาในญี่ปุ่นและศรีลังกา ซึ่งญี่ปุ่นมีแหล่งท่องเที่ยวออนเซ็น Kinosaki ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองโทโยโอกะ จังหวัดเฮียวโงะทางตัวออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งพัฒนาการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด "เมืองโรงแรม
(The entire town is one large inn.)” และแหล่งท่องเที่ยวออนเซ็น Kurokawa ซึ่งได้นำระบบ Bathing Pass มาใช้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ารับบริการแช่น้ำพุร้อนในหลากหลายแห่งของเมือง ในส่วนของกรณีศึกษาของศรีลังกานั้น มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 25%
ที่เดินทางมาศรีลังกาเพื่อรับบริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รัฐบาลศรีลังกาจึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการประยุกต์ใช้อายุรเวท (Ayurveda) ซึ่งเป็นศาสตร์การแพทย์แผนโบราณเพื่อสร้างความโดดเด่นให้แก่แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมอภิปรายแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนสันกำแพงและออนใต้ฟาร์ม ซึ่งเป็นกิจการที่มีการจัดสรรผลประโยชน์สู่ชุมชนอย่างชัดเจนโดยในการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวน้ำพุร้อน สิ่งสำคัญในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และน้ำพุร้อนใหม่ ๆ คือ การสร้างอัตลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวให้มีความแตกต่างอย่างโดดเด่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาการเชื่อมต่อด้านคมนาคมเพื่อเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ นอกจากนี้ ที่ประชุมเสนอให้พัฒนากฎระเบียบในการบริหารจัดการน้ำพุร้อน ตลอดจน
การเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลให้สนับสนุนการท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าว นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาความปลอดภัย
และสามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ตามหลัก Universal Design การบริหารจัดการขยะ ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าของสินค้าภายในชุมชนโดยรอบน้ำพุร้อนและนำมาวางจำหน่ายในบริเวณกิจการกลางของน้ำพุร้อน รวมถึงอาจจะพิจารณาเปิดห้องอาหารและบริการท่องเที่ยวอื่น ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ สถาบันวิจัย Global Wellness Institute ได้จัดอันดับเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ (Wellness Economy) ของไทยอยู่ที่ 24 จาก 218 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสามารถสร้างรายได้กว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยมีจุดแข็งจากทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย และการบริการเชิงสุขภาพที่มีมาตรฐานสูง ตลอดจนมีการพัฒนาทักษะบุคลากรในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป้าหมายสำคัญของไทยคือการ
เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ
สำหรับการประชุมครั้งถัดไป สถาบันวิจัย JTTRI-AIRO จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 6 ในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม 2568
ณ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ "บทบาทและภารกิจขององค์กรจัดการแหล่งท่องเที่ยว”