โดย : Admin 17 มิ.ย. 2568
กก. นำคณะทำงานวิชาการฯ ไทย – ญี่ปุ่น ศึกษาดูงาน Wellness Tourism ณ อำเภอสันกำแพง จ. เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2568 นายเศกสันฐ์ ง้าวสุวรรณ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบหมายให้นางบงกชรัตน์ โมลี
ผู้อำนวยการกองนโยบายและการต่างประเทศ ให้การต้อนรับนายโอคุดะ เท็ตสึยะ ประธานสถาบันวิจัยด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น สำนักงานภูมิภาคอาเซียน–อินเดีย (JTTRI–AIRO) ในฐานะประธานคณะทำงานวิชาการท่องเที่ยวฝ่ายญี่ปุ่น พร้อมคณะทำงาน
วิชาการฯ ไทย–ญี่ปุ่น เข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงาน (Technical Visit) ณ กิจการน้ำพุร้อนสันกำแพง ตามพระราชดำริ และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ออนใต้ จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมคณะทำงานวิชาการด้านการท่องเที่ยว ไทย–ญี่ปุ่น ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2568 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ภายใต้หัวข้อ "การดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วประเทศด้วยการต่อยอดทรัพยากรการท่องเที่ยว กรณีศึกษาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Towards Attracting Tourists Across the Country by Leveraging Tourism Resources – Taking Example of Wellness Tourism)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
และประสบการณ์ด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระหว่างสองประเทศ
ในช่วงเช้า คณะทำงานฯ ได้เดินทางเข้าศึกษาดูงาน ณ กิจการน้ำพุร้อนสันกำแพง โดยมีนายเฉลิมศักดิ์ มากมูลผล ผู้จัดการกิจการ
น้ำพุร้อนสันกำแพงให้การบรรยายและนำชมพื้นที่ภายใน อาทิ ห้องประชุม บ้านพัก จุดบริการแช่น้ำแร่ นวดเพื่อสุขภาพ และจุดบริการสาธารณะ โดยตลอดการศึกษาดูงาน คณะทำงานฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อต่อยอดการพัฒนาน้ำพุร้อนให้ได้มาตรฐานและต่อยอดคุณภาพสินค้าและบริการจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวศักยภาพให้เข้ามาใช้จ่ายในพื้นที่
เพิ่มมากขึ้นได้
ต่อมาในช่วงบ่าย นายเศกสันฐ์ ง้าวสุวรรณ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ต้อนรับคณะฯ ในการศึกษาดูงาน "ออนใต้ฟาร์ม” วิสาหกิจชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Destination) ในโอกาสนี้ นายภิญโญ วิสัย ประธานวิสาหกิจชุมชน
ท่องเที่ยวอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ออนใต้ได้บรรยายถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ
แบบองค์รวม โดยคณะฯ ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์การดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ การทำลูกประคบสมุนไพร สปาเท้า
ด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน พร้อมรับประทานอาหารพื้นเมืองล้านนา ภายใต้แนวคิด "อาหารเป็นยา” ซึ่งเน้นการใช้วัตถุดิบจากผักปลอดสารพิษ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการจัดเมนูอาหารที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ
การศึกษาดูงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คณะทำงานวิชาการฯ ได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนออนใต้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นต้นแบบของการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และตอกย้ำบทบาทของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ในระดับภูมิภาค