ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 30 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

โดย : Admin 07 มี.ค. 2567

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายปานปรีย์  พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม และมีหน่วยงานเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

                   ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและวางแผนในการผลักดันให้เกิดการกระตุ้นรายได้จาก
การท่องเที่ยว ดังนี้

    1. แนวทางการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2567 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและสร้างงานให้กับประชาชน

      1.1 การส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง

           1.1.1 การส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาและการจัดนิทรรศการ

                                  การจัดประชุมสัมมนาและการจัดนิทรรศการ (Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions - MICE) เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมีศักยภาพและมีความพร้อม ซึ่งที่ประชุมมีมติ ดังนี้

                                  1.) เห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดกิจกรรมประชุม/สัมมนา/อีเวนต์ขนาดใหญ่ และอำนวยความสะดวกในการจัดงานและการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศเป้าหมายผู้เข้าร่วมการประชุมและการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ

                                  2) เห็นชอบและมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) จัดทำแนวทางการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติ
ผ่านนโยบาย "
One Ministry One Convention” เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ                  1.1.2 การส่งเสริมการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ

                   การท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ (Maritime Tourism) เป็นรูปแบบการท่องเที่ยว
ที่ประเทศไทยมีศักยภาพและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศไทยมี
แหล่งท่องเที่ยวและความพร้อมพร้อมในกิจกรรมทางน้ำที่หลากหลาย ทั้งในทะเล เลียบชายฝั่ง และแม่น้ำลำคลอง
ซึ่งที่ประชุมมีมติ ดังนี้

 

 

 

                                  ๑) เห็นชอบและมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประสานหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพช.) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการท่องเที่ยวเรือสำราญ (Thailand Cruise Master Plan) และแผนแม่บท
การท่องเที่ยวเรือสำราญและกีฬา (ยอร์ช) (
Thailand Yacht Master Plan)

                                  ๒) เห็นชอบและมอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พิจารณาปรับปรุงพิธีการตรวจคนเข้าเมือง และกฎหมาย/ระเบียบ
ที่เกี่ยวข้องสำหรับการเดินทางเข้าประเทศทางน้ำ อาทิ การยกเลิกบัตร ตม.6 สำหรับนักท่องเที่ยวเรือสำราญ และ
การขยายระยะเวลาการอนุญาตให้คนประจำพาหนะเรือสำราญและกีฬา (ยอร์ช)อยู่ในประเทศไทยสอดคล้องกับ
การอนุญาตให้ตัวเรือสำราญและกีฬา (ยอร์ช) อยู่ในประเทศไทย เป็นต้น

                                  ๓) เห็นชอบและมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยว
แห่งประเทศไทย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวในแม่น้ำ ลำคลอง เขื่อน และอ่างเก็บน้ำ

                           1.1.3 การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (แหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อน)

                                  การท่องเที่ยวสุขภาพของไทยมีการเติบโตต่อเนื่องและขยายตัวต่อเนื่องเนื่องจาก
ความพร้อมและศักยภาพที่หลากหลาย โดยมีทั้งกิจกรรมหลากหลายรูปแบบทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม นวดแผนไทย โดยรูปแบบที่ไทยมีศักยภาพสูง คือกิจกรรมการแช่น้ำพุร้อน และมีโอกาสที่จะขยายต่อยอดเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อน สำหรับฟื้นฟูสุขภาพพักฟื้นระยะยาวเป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติ ดังนี้

                                  1) เห็นชอบและมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวน้ำพุร้อน เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ และยกระดับแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนที่มีศักยภาพให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน้ำพุร้อน ส่งเสริมการตลาด และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในประเทศและระหว่างประเทศ

                                  2) เห็นชอบและมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยว จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)

                           1.1.4 การส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

                                  การส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยสร้างรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยปีละเกือบ 5,000 ล้านบาท โดยรายได้จำนวนนี้ได้ก่อเกิดการจ้างงานและกระจายรายได้สู่บุคลากร รวมถึงธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยกรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศทั่วโลกเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการถ่ายทำ โดยที่ประชุมมีมติ ดังนี้

                                  1) เห็นชอบและมอบหมายกระกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยวเป็นขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อชำระคืนให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศที่ได้รับการอนุมัติเงินคืนจากคณะกรรมการพิจารณาการคืนเงินสำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเรียบร้อยแล้วต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

                                  2) เห็นชอบและมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยว เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินกิจกรรมและมาตรการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ

                                  3) เห็นชอบและมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยว จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศของเอเชีย

                             1.1.5 การส่งเสริมการจัดงานมหกรรมระดับนานาชาติ (World Event/Festival)

                                      รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการจัดงานเทศกาลของโลกโดยนำจุดเด่น Soft Power มาเป็นหนึ่งในกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยงานเทศกาลที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้
ที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้

                                      1) เห็นชอบและมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการจัดงานให้กับผู้ประกอบการ ผู้จัดงานเทศกาลและกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย

                                      2) เห็นชอบและมอบหมายสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนกิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้จัดงานไทยกับต่างประเทศ สนับสนุนและพัฒนางานเทศกาล/มหกรรมนานาชาติที่มีศักยภาพ และดำเนินการประมูลสิทธิ์เพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมนานาชาติ

                     1.2. การส่งเสริมการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มีคุณภาพและค่าใช้จ่ายสูง

                           การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ทำการวิเคราะห์การทำตลาดต่างประเทศและทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวของรัฐบาล ด้วยการส่งเสริมพันธมิตรสายการบินภายใต้กลยุทธ์ Airline Focus, การขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการกระตุ้นการเดินทางในช่วงต่างๆ ทั้งในฤดูกาลท่องเที่ยว High Season และนอกฤดูกาลท่องเที่ยว Green Seasonซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2567 ประเด็นการตรวจลงตราเพื่ออำนวยความสะดวก (Ease of Travel) และกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยว และมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวบรวมมาตรการด้านการตรวจลงตราเพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้น การเดินทางของนักท่องเที่ยวและนักกีฬา เสนอกระทรวงการต่างประเทศเพื่อพิจารณาในภาพรวมต่อไป

                   2. แนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

                       กรมการท่องเที่ยวได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จำนวน 4 สาขา คือ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสปา ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และธุรกิจขนส่ง โดยแบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และยาว และมีการระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบขึ้นอยู่กับภารกิจของหน่วยงาน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่เสนอ และมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ รับข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปปรับปรุงแนวทางให้สอดคล้องกับภารกิจและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งแจ้งแนวทางดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ตลอดจนมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยว ดำเนินการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว

--------------------------------------------------------