มาตรการและการดำเนินการที่สำคัญเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้ภารกิจของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

โดย : Admin 02 มี.ค. 2564

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการแก้ไขเยียวยา และฟื้นฟูผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมกีฬา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” เพื่อประสานงาน ติดตามมาตรการแก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากวิกฤตการณ์นี้
ทั้งนี้ ในปี 2563 คณะกรรมการแก้ไขเยียวยาฯ ได้มีการประชุมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยบูรณาการการทำงาน ทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการประสานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) โดยสามารถสรุปมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สำคัญได้ ดังนี้

1.  มาตรการเยียวยามัคคุเทศก์
มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยภาครัฐสนับสนุนเงินช่วยเหลือ รายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ กลุ่มมัคคุเทศก์นับเป็นกลุ่มอาชีพอิสระที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว

2. มาตรการเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) "โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19” เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยได้กำหนดวงเงินสำหรับปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว จำนวน 10,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย ไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งต่อมากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ประสานจัดประชุมร่วมกับผู้แทนธนาคารออมสิน ผู้แทนสมาคมด้านท่องเที่ยวในแต่ละสาขา และสมาคมด้านกีฬา เพื่อหารือรายละเอียดแนวทางการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกู้เงินเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เห็นชอบขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป โดยจัดสรรวงเงินจำนวน 3,000 ล้านบาทเพิ่มเติม ให้กับธนาคารออมสินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยตรง

3. มาตรการช่วยเหลือสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว
มาตรการลดภาระในการวางเงินหลักประกันของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 โดยเหลือการวางหลักประกันเพียงร้อยละ 30 เป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวสามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและพนักงานที่อยู่ในความดูแลได้ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ กฎกระทรวง เรื่อง กำหนดจำนวนเงินหลักประกันการประกอบธุรกิจนำเที่ยว พ.ศ. 2563 แล้ว โดยกรมการท่องเที่ยว ได้ดาเนินการประสานและคืนเงินหลักประกันให้กับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวแล้ว ระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม – 28 ธันวาคม 2563 จำนวนเงิน 470,806,000 บาท

4. มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 13 สาขาวิชาชีพ
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ขยายความครอบคลุมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งครอบคลุมลูกจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้ง 13 สาขาวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 ให้เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัย ตามมาตรา 79/1 ของพระราชบัญญัติประกันสังคม โดยมีสิทธิ์รับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

5. มาตรฐาน SHA (Safety & Health Administration)
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำมาตรฐาน SHA (Safety & Health Administration) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวของไทยและรักษาความเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยออกแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้ครอบคลุมทั้งในเรื่องของการกิน การเดินทางท่องเที่ยว ที่พัก สุขภาพและความงาม และการช้อปปิ้ง ตลอดจนการจัดการประชุมเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เข้ามารับบริการ มีสถานประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,291 ราย และสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐานจำนวน 4,579 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2563)